พวกเธอ
ต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน
แล้วจึงเรียนศิลปะ– ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ที่คอยสั่งสอนลูกศิษย์ ลูกหาให้มีความรู้ ความสามารถในวิชาศิลปะหลายแขนง เช่น งานจิตรกรรม ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ลูกศิษย์สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของประเทศไทยและมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย
ศิลปะ คือ สิ่งที่บรรจงสร้างออกมาจากความคิด การแสดงอารมณ์ของมนุษย์ ทั้งความสุข ความเศร้า เช่น ภาพวาด ที่อาจเกิดมาจากการจินตนาการถึงสิ่งต่าง ๆ ในขณะนั้น แต่ความจริงแล้ว ศิลปะไม่มีคำนิยามตายตัว มันขึ้นอยู่กับว่าคนนั้น ๆ เป็นใคร มองคำว่าศิลปะในแง่มุมไหนมากกว่า และการที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวเช่นนี้ก็ไม่ผิดนัก เพราะศิลปะ ไม่ใช่แค่การวาด และลงสีเท่านั้น แต่ตัวผู้สร้างสรรค์ผลงานต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าต้องการถ่ายทอดสิ่งใดให้ผู้อื่นเห็น เมื่อเข้าใจพื้นฐานของตัวเอง และคนอื่นแล้ว ผลงานที่ออกมาก็จะบอกตัวตนได้ดีขึ้นว่าจะสื่ออะไร
ทุกคนมีความงาม
นายต้องค้นให้พบ
แม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุด ก็อาจจะมีความงามที่แอบซ่อนอยู่
อาจจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือ ฟัน
หรือแม้แต่จิตใจที่งดงามก็ตาม
นายต้องค้นให้พบ– ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
หลาย ๆ คนบนโลกนี้ ส่วนใหญ่มักมองกันที่หน้าตา มากกว่าจิตใจ นั่นก็เพราะหน้าตาเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจ ส่วนลักษณะนิสัยจะเป็นรองลงมา คนที่หน้าตาดีย่อมมีโอกาสมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว คนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในสังคม ดังนั้น เราจึงตัดสินใครไม่ได้ ถ้าหากยังไม่ให้เขาได้ลองแสดงฝีมือ บางทีคนที่เสียโอกาสอาจจะเป็นเราเอง
คนบางคนอาจจะหาความสวยงามจากรูปร่าง หน้าตาไม่ได้ แต่ในความไม่สวยงามนั้น เขาอาจจะจิตใจที่โอบอ้อมอารี มีกริยาที่อ่อนหวาน ทำงานเก่ง นั่นอาจเรียกว่าเป็นสิ่งที่ทดแทนรูปร่าง หน้าตาได้ ตรงกันข้ามกับคนที่หน้าตาดี บางคนก็หลงตัวเองว่าใครต่อใครมาชอบ ก็มักจะทำตัวก้าวร้าวใส่ผู้อื่น เราจึงไม่ควรมองคนแค่เปลือกนอก เพราะคนเราก็ต่างมีข้อดีที่แตกต่างกันออกไป เพียงแต่เราต้องหาให้เจอ
ศิลปะยืนยาว
ชีวิตสั้น– ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ถ้าพูดถึงงานศิลปะ แน่นอนว่า สามารถสร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ ทั้งวาดภาพ การดนตรี รูปปั้น ฯลฯ อยู่ที่ว่าตัวศิลปินจะสร้างผลงานออกมาในแขนงไหน สิ่งที่สร้างเสร็จแล้วจะเป็นตัวบอกว่า ผู้สร้างคิดอะไรอยู่ในขณะนั้น และหากผลงานเป็นที่ถูกใจแก่คนทั่วไป ก็จะถูกอนุรักษ์ไว้จนกว่าจะสูญสลาย
ดังนั้น การสร้างผลงานศิลปะก็ถือว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวอีกอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น นักโบราณคดีเดินทางไปที่วัดเก่าแก่ เมื่อไปศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ก็สามารถบอกได้ว่าสถาปัตยกรรมที่นี่ สร้างขึ้นเมื่อใด มีอายุเท่าใด จะเห็นได้ว่า ศิลปะที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ล้วนอยู่นานกว่าชีวิตมนุษย์ เพราะในขณะที่มนุษย์ล้มหายตายจาก แม้ว่าจะวนเวียนเปลี่ยนไปเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี ศิลปะเหล่านั้นก็ยังคงปรากฏอยู่ให้เห็น ดังเช่น พระพุทธรูปที่ถูกขุดพบเจอในวัดเก่า และถูกนำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน เพื่อแสดงให้คนรุ่นหลังได้ชมว่าเคยมีสิ่งนี้อยู่เมื่อนานมาแล้ว
พรุ่งนี้
ก็สายเสียแล้ว– ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
หากคิดจะทำอะไร ให้รีบทำ ก่อนที่จะสาย อย่ามัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะเวลาเดินหน้าอยู่ตลอด คนเรามี 24 ชม. เท่ากัน อยู่ที่ว่าใครจะบริหารเวลาได้ดีกว่า คนที่คิดแล้วทำเลย มักจะประสบความสำเร็จก่อนคนที่ยังไม่เริ่มเสมอ นั่นเป็นเรื่องแน่นอนที่เกิดขึ้นในโลก
คำว่า “พรุ่งนี้” อาจไม่มีจริง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น อาจร้ายแรงจนถึงชีวิต ทั้งนี้อาจเกิดจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้า เราต้องตระหนักถึงทุกนาทีที่ผ่านไป ว่าเราใช้มันคุ้มแล้วหรือยัง หากยังให้คิดว่าเราจะเอาเวลาที่เสียไปแบบฟรี ๆ นั้น ไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อทำวันนี้ดีแล้ว พรุ่งนี้เราก็จะไม่เสียดายในสิ่งที่ทำลงไป
ศิลปะ
ไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น
แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต– ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ศิลปะ อาจไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังสอนเรื่องการใช้อารมณ์ด้วย เช่น ศิลปินวาดภาพ เราจะเห็นว่ากว่าที่ศิลปินจะสร้างสรรค์ผลงานได้ เขาจะต้องมีความใจเย็น มองเห็นทุกอย่างเป็นศิลปะ และต้องคิดอย่างรอบคอบถึงสิ่งที่กำลังจะถ่ายทอดลงไปบนผืนผ้าใบ การออกแบบเครื่องแต่งกายก็ถือเป็นศิลปะเช่นกัน เพราะการที่จะออกแบบลวดลายใด ๆ ลงบนผืนผ้าก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และไม่ให้ซ้ำกับผู้อื่น ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายความสามารถพอสมควร
จริง ๆ แล้ว คนเราก็อยู่ท่ามกลางศิลปะแทบทุกวัน เพียงแต่เราอาจไม่รู้ตัวเท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น บ้านที่เราอาศัยอยู่ทุกวัน ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าเป็นศิลปะยังไง การรออกแบบบ้านก็เป็นอีกแขนงหนึ่ง หรือการจัดจานอาหารก็เรียกว่าเป็นศิลปะ ดังที่เราจะเห็นได้เสมอตามร้านอาหารที่มักจะจัดจานแบบสวยงาม มีดอกไม้ประดับเพื่อชวนรับประทาน ทั้งนี้ก็อยู่ที่ความคิด และฝีมือในการสร้างสรรค์ด้วย