TIDLOR ระยะยาวมีเสน่ห์ สินเชื่อขยายตัว-ประกันฯ คึก

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

“เงินติดล้อ” น้องใหม่ใน SET50 และ SET100 กับโอกาสเติบโตหลังราคาหุ้นซึมยาวไหลลงมาอยู่ระดับเดียวกับราคา IPO ภาพรวมทิศทางธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง หนุนจากการเติบโตของสินเชื่อ ยอดขายเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น ช่วยสร้างเสถียรภาพในระยะยาว

แม้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกดดันภาวะเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวในปี 2564 แต่สำหรับบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR) น่าจะกล่าวได้ว่าปีนี้เป็นปีทองของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในการเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา จวบจนการถูกนำเข้าใช้คำนวณดัชนี SET50 และ SET100 เมื่อเร็วๆ นี้ และก่อนหน้านี้ ได้รับการนำเข้าไปคำนวณดัชนี MSCI Global Small Cap มีผลไปแล้ว รวมถึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกนำเข้าไปคำนวณ FTSE SET Index Series ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้บริษัทเป็นที่จับตาจากนักลงทุนต่างชาติ และกองทุนต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับราคาหุ้นของบริษัท เพราะปัจจุบันราคาหุ้น TIDLOR กลับมาเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 36.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นระดับเดียวกับราคา IPO ของบริษัทเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2564 ที่ระดับ 36.50 บาทต่อหุ้น เหมือนราคาหุ้นไม่เคยเคลื่อนที่ไปไหน ทั้งที่เคยทำได้ถึงระดับ 55.00 บาท แต่ในภาพรวมหลังจากนั้น ราคาหุ้นทยอยปรับตัวลดลง หรืออยู่ในโมเมนตัมขาลงมาโดยตลอด

ต้องยอมรับว่าชื่อเสียงของ “เงินติดล้อ” ในแวดวงตลาดหุ้นมีให้พูดถึงกันมาตั้งแต่ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะในเรื่องเม็ดเงินจากการระดมทุนส่วนใหญ่ที่ตกสู่ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และ Siam Asia Credit Access Pte.Ltd. รวมกันเกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท นั่นหมายความว่า การเข้าตลาดของ TIDLOR ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทมากนัก แต่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ถือหุ้นใหญ่เสียมากกว่า

ขณะเดียวกัน จำนวนหุ้นที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละคนนั้นรายชื่อที่ปรากฏล้วนไม่ธรรมดา เช่น “เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” เจ้าของอาณาจักรบีทีเอส “เจ้าสัวสารัชถ์ รัตนาวะดี” เจ้าใหญ่ในธุรกิจไฟฟ้า รวมไปถึง “ปริญญ์ จิราธิวัฒน์” “พิชัย กัญจนาภรณ์” ผู้ก่อตั้งแบรนด์กางเกงยีนส์สัญชาติไทย “แม็คยีนส์” “ยิ่งลักษณ์ วัชรพล” “วรางค์ ไชยวรรณ” ทายาทบริษัท ไทยประกันชีวิต เป็นต้น

แต่โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ TIDLOR นับว่ามีศักยภาพมาก และสร้างความเชื่อมั่นแก่การลงทุนได้เป็นอย่างดี โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) ถือหุ้น 30.00% Siam Asia Credit Access Pte.Ltd. ถือหุ้น 25% UBS SECURITIES PTE LTD. ถือหุ้น 8.11% Morgan Stanley & Co. International Plc. ถือหุ้น 5.96% และบัวหลวงหุ้นระยะยาว 1.11%

ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์กันว่า TIDLOR มีแนวโน้มผลการดำเนินงานจะขยายตัวดีในปี 2564 ด้วยปัจจัยหนุนประกอบด้วย แนวโน้มสินเชื่อที่จะขยายตัวสูง จาก 1.การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่หนุนให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้บัตรเงินสดหมุนเวียน (revolving cash card) ที่ทำให้เกิดการใช้วงเงินอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำรองจะอยู่ในระดับต่ำ และมีโอกาสที่จะ reverse สำรองส่วนเกินเป็นรายได้ได้ ทั้งนี้ บริษัทคาดว่า LLR/Loan จะปรับตัวลงเป็น 4% ในช่วง 2-3 ปี จากไตรมาส 1/2564 ที่อยู่ที่ 4.9%

นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนรายได้จากธุรกิจขายประกันที่จะเพิ่มขึ้น หนุนโดยยอดขายรถใหม่ในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้น ทำให้ความต้องการประกันภัยรถยนต์ตั้งแต่ปี 2 เพิ่มขึ้น อีกทั้งการขายช่องทางออนไลน์จะดีขึ้นภายหลังที่บริษัทได้ลงทุน และปรับปรุงระบบให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลได้ในช่วงกลางปี 2564

คุมดอกเบี้ยไม่กระทบธุรกิจ

ส่วนประเด็นที่ถูกหยิบยกให้เป็นปัจจัยที่กดดันต่อราคาหุ้นของบริษัทหนีไม่พ้นกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้ ยืดหนี้ให้ลูกค้าของสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อช่วยลูกหนี้ในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้ ขณะเดียวกัน ในกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อมีแนวคิดในการเข้ามาควบคุมกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยกันสูงมากกว่า 30%

โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งตั้งแต่มีข่าวออกมากลายเป็นปัจจัยกดดันและส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ทันที เพราะจะมีกรอบของกฎหมายเข้ามาควบคุมอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงจนกลายเป็นภาระของผู้บริโภค ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่ากลุ่มเช่าซื้อรถจักรยานยนต์น่าจะได้รับผลกระทบมาก แม้จะขยายเพดานดอกเบี้ยจาก 15% เป็น 20%

ทว่า ปัจจุบันหลายบริษัทคิดดอกเบี้ยสูงกว่านี้ ส่วนกลุ่มสินเชื่อรถยนต์แทบไม่ได้ผลกระทบ เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ ธนาคารต่างๆ คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าที่กำหนดอยู่แล้ว ขณะที่ TIDLOR นั้นตามข้อมูลพบว่า มีสัดส่วนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ประมาณ 0.5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ดังนั้นน่าจะได้รับผลกระทบแบบจำกัด เนื่องจากยังมีสัดส่วนไม่มาก และคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 20% อยู่แล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ “ทริสเรทติ้ง” ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile – SACP) ของบริษัทที่ระดับ “a-” ขึ้นมา 1 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองที่มีต่อสถานะของบริษัทว่าเป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และการได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจาก BAY

นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน อีกทั้งมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีจากการมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง รวมถึงการมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่ดี

BAY ช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจ

นั่นเพราะ TIDLOR เป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ในเครือของ BAY ซึ่งยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ส่วนทิศทางการดำเนินธุรกิจและการดำเนินงานต่างๆ นั้นก็อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริษัทยังคงเป็นสมาชิกอยู่ใน Full Consolidated Group ของทางธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ธนาคารมีหน้าที่กำกับดูแลและให้คำแนะนำในด้านแนวทางการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงแก่บริษัทในทางอ้อม ทำให้เชื่อว่าธนาคารจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในยามที่บริษัทต้องการ

สิ่งสำคัญอีกประการนั่นคือ บริษัทเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ของ BAY ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแก่กลุ่มลูกค้าภายในประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ได้ โดยคาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจาก BAY อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีเงินกู้คงค้างที่ได้รับจาก BAY จำนวน 1.01 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 27% ของเงินกู้คงค้างทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จาก BAY อีกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันเอาไว้ได้ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่จำนวน 5.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบ ณ สิ้นปี 2563 การเติบโตที่ดีขึ้นในปี 2564 เมื่อเทียบกับการเติบโตทั้งปีที่ระดับ 7% ในปี 2563 นั่นเป็นผลมาจากสภาวะตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นจากการคลายมาตรการปิดเมือง (City Lockdown) ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยการเติบโตของอุตสาหกรรม

โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มุ่งเน้นการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งทำให้บริษัทมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างไปจากคู่แข่งรายอื่นๆ กล่าวคือ ในขณะที่คู่แข่งต่างเน้นไปที่การขยายสาขาเพื่อสร้างการเติบโตของสินเชื่อ แต่บริษัทเน้นการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาโครงสร้างการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Innovation and Platform) เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกเฟ้นการขยายเครือข่ายสาขาเพื่อขยายสินเชื่อ

สิ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทยังเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกันรายแรกที่ให้บริการบัตรกดเงินสดที่ทำให้ลูกค้าสามารถเบิกเงินสดได้จากตู้เอทีเอ็ม (Automatic Telling Machine – ATM) บัตรกดเงินสดดังกล่าวช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกค้าของบริษัทในรูปแบบสินเชื่อหมุนเวียนบนวงเงินของลูกค้า โดยการใช้ระบบบัตรกดเงินสดและการปล่อยสินเชื่อภายใต้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้บริษัทมีการพึ่งพาสาขาที่น้อยลงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น

ส่วนในด้านของเครือข่ายสาขานั้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทได้เปิดสาขาใหม่ไปแล้วจำนวน 184 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสาขาทั้งสิ้นในปัจจุบันที่จำนวน 1,260 แห่ง และถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายสำคัญๆ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรวมคงค้างต่อจำนวนสาขาของบริษัทมีจำนวนที่สูงกว่าคู่แข่งโดยอยู่ที่ระดับ 44.9 ล้านบาทต่อสาขา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของคู่แข่งที่ระดับ 11.9 ล้านบาทต่อสาขา

ความสามารถทำกำไรแข็งแกร่ง

ไม่เพียงเท่านี้ TIDLOR ยังมีสถานะฐานทุนที่ดีขึ้นและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง โดยฐานทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับที่แข็งแกร่งมาก ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 37.6% จาก 22.6% เมื่อสิ้นปี 2563 ก่อนการขายหุ้นเพิ่มทุน ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการขยายสินเชื่อไปได้อีก 2-3 ปีข้างหน้า

จึงคาดว่าความสามารถในการกำไรที่อยู่ในระดับสูงของ TIDLOR จะยังคงช่วยส่งเสริมสถานะฐานทุนของบริษัทให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการสะสมกำไรในปัจจุบันนั้นน่าจะสามารถทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับเกินกว่า 30% ได้เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ระดับประมาณ 15% ต่อปี

ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6.0-6.5% ในระหว่างปี 2564-2566 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 และในปี 2563 อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ระดับ 7.2% และ 6.1% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการมีต้นทุนด้านเครดิตที่ปรับตัวลดลงซึ่ง ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ประโยชน์ของสำรองส่วนเพิ่มจากการบริหารจัดการ (Management Overlay) ที่มีอยู่ และประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเห็นได้จากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมที่ลดลง

ขณะเดียวกัน การเติบโตของ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.8% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้นมีส่วนช่วยสนับสนุนรายได้รวมของบริษัทในปีนี้แม้จะมีแรงกดดันในส่วนของผลตอบแทนจากสินเชื่อก็ตามโดยได้รับอานิสงส์จากการเติบโตที่เข้มแข็งของธุรกิจนายหน้าประกันภัย

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เบี้ยและรายได้ของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น 25% และ 28% ตามลำดับเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถือเป็นพัฒนาการในด้านบวกเนื่องจากสัดส่วนที่มากขึ้นจากรายได้ค่าธรรมเนียมน่าจะช่วยสร้างเสถียรภาพของรายได้ของบริษัทได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนฐานสินเชื่อรวมที่ใหญ่ขึ้น และผลกระทบจากโรค COVID-19 ได้ทำให้การเติบโตของธุรกิจลดลงอย่างมากในปี 2563 และปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2564 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สินเชื่อรวมของผู้ประกอบการใหญ่ทั้ง 3 รายขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ระดับ 11% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้วซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 13% ในปี 2563 โดยทริสเรทติ้งมองว่าการเติบโตของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจะอยู่ในอัตราเลข 2 หลักในระยะปานกลางโดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากอุปสงค์สินเชื่อที่มาจากกลุ่มเปราะบาง

กูรูเชื่อเติบโตต่อเนื่อง

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด ประเมินทิศทางธุรกิจของ TIDLOR ว่าการเติบโตที่ชัดเจนหนุนจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลภาพการเติบโตของสินเชื่อปี 2564-65 ที่แข็งแกร่ง โดยประมาณการการเติบโตของสินเชื่อปี 2564-65 ที่ 15% และ 13% เทียบปีก่อน ตามลำดับ หนุนจากการขยายสาขา (ทางผู้บริหารคาดจะขยายเพิ่ม 200 สาขาในปีนี้ ส่งผลให้จำนวนสาขารวมอยู่ที่ 1,276 สาขา) สาขาของธนาคารกรุงศรี (BAY) การขายผ่านทางโทรศัพท์ และการตั้งตัวแทนสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก

นอกจากนี้ คาดว่าบัตรติดล้อจะหนุนการเติบโตของสินเชื่อ โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 บัตรติดล้อคิดเป็น 33.2% ของลูกค้าที่ขอสินเชื่อทั้งหมดของ TIDLOR (เพิ่มขึ้นจาก 14.2% ณ สิ้น ปี 2563) และการขอสินเชื่อ (กดเงิน) ผ่านตู้ ATM ด้วยบัตรติดล้อ เพิ่มขึ้น 103% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาส 3/64 สังเกตว่าผู้บริหารมีแผนที่จะเปิดตัวธุรกิจใหม่ สินเชื่อที่มีหลักประกัน

ดังนั้น โดยรวม จึงมีมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจ Finco และภาพการเติบโตของกำไร โดยคาดการณ์กำไรปี 2564 ที่ 3.2 พันล้านบาท เติบโต 32% จากปีก่อน และ 3.8 พันล้านบาท สำหรับปี 2565 เติบโต 18% เทียบปีก่อน หนุนจากการเติบโตของสินเชื่อ ยอดขาย เบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่ลดลง นอกจากนี้ แผนธุรกิจสินเชื่อที่มีการค้ำประกันของ TIDLOR จะเป็นอัปไซด์ต่อประมาณการกำไรปี 2565

ขณะที่ บล.เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุถึง TIDLOR ว่า คงคำแนะนำ “ซื้อ” และราคาเป้าหมายที่ 50.00 บาท อิง P/BV ปี 2565 ที่ 4.5 เท่า (+1SD ตั้งแต่เข้าตลาด) มองเป็นกลางต่อประเด็นสำคัญ คือ การปรับเป้าสาขาปี 2564 เพิ่มเป็น 210 สาขา จากเป้าเดิม 150 สาขา (9M/64 เปิดได้แล้ว 184 สาขา) รวมถึงลูกหนี้ที่ให้ความช่วยเหลือกลับมาชำระเป็นปกติสูงถึง 83%

พร้อมกันนี้ บริษัทจะเน้นดำเนินงานในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต และแข่งขันต่ำอย่าง TIDLOR Card มากกว่าธุรกิจ Buy Now Pay Later (BNPL) ที่มีการแข่งขันสูง และกำไรไตรมาส 4/2564 จะหดตัวเล็กน้อย จากไตรมาสก่อน จากค่าใช้จ่ายที่สูง (โฆษณา, Sale Incentive และค่าวัคซีนให้พนักงาน) และตั้งสำรองเพิ่มขึ้น

ทำให้คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 3.1 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน และปี 2565 ที่ 4.1 พันล้านบาท หรือ 32% เทียบปีก่อน จากสินเชื่อที่จะขยายตัวขึ้นปีละ 15% และ 22% จากปีก่อน และรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น 23% และ 28% เทียบปีก่อน ราคาหุ้น Underperform SET -16% ใน 6 เดือน แต่กลับมา Outperform +6% ในช่วง 1 เดือน

ดังนั้น จึงคงแนะนำ “ซื้อ” จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นทั้งธุรกิจสินเชื่อและธุรกิจนายหน้าขายประกัน หนุนโดยยอดปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจดี เพิ่มช่องทางการขายประกัน และปล่อยสินเชื่อออนไลน์ และแนวโน้มค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง รวมทั้งคาดผลกระทบจำกัดจากการเข้ามาของ Auto X

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket